วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ศักราชใหม่ เริ่มต้นดี ชีวิตดี






                     

                               ปีเก่าเคยประมาทขาดสติ            ปีใหม่ริสติสร้างมิร้างหาย
                       ปีเก่าเคยเกียจคร้านสำราญกาย           ปีใหม่หมายมุ่งพิชิตทุกกิจการ

                               ปีเก่าเคยใจร้อนสะท้อนโทษ        ปีใหม่โปรดใจเย็นเว้นพลุ่งพล่าน
                       ปีเก่าเคยปากเปราะชอบเราะราน           ปีใหม่หวานพาทีวจีตน

                                ปีเก่าเคยคดโกงสารพัด               ปีใหม่งัดสุจริตสัมฤทธิ์ผล
                       ปีเก่าเคยเกลียดชังฝังกมล                    ปีใหม่ยลความรักพิทักษ์มาน

                                 ปีเก่าเคยฝังจิตริษยา                   ปีใหม่มาเปลี่ยนจิตคิดประสาน
                       ปีเก่าเคยอ่อนแอพ่ายแพ้มาร                 ปีใหม่หาญเข้มแข็งแกร่งกระมล

                                  ปีเก่าเคยฉิบหายอบายมุข           ปีใหม่ลุกเลิกเล่นให้เป็นผล
                       ปีเก่าเคยสนุกเที่ยวซุกซน                      ปีใหม่ค้นอยู่บ้านสำราญกาย

                                  ปีเก่าเคยบ้าหวยรวยทางลัด         ปีใหม่จัดทำงานการค้าขาย
                       ปีเก่าเคยศีลธรรมมิกล้ำกราย                   ปีใหม่หมายศีลธรรมชี้นำทาง

                                   ปีเก่าเคยแตกแยกมาแทรกซ้อน   ปีใหม่ย้อนสามัคคีมิมีสร่าง
                        ปีเก่าเคยละโมบโลภมิวาง                       ปีใหม่สร้างแบ่งปันหมั่นเพียงพอ

                                    ปีเก่าเคยหูเบาเชื่อเขาง่าย           ปีใหม่หมายพินิจคิดก่อนหนอ
                        ปีเก่าเคยชอกช้ำน้ำตาคลอ                      ปีใหม่ขอโชคดี....ทวีเทอญ...

     









              ในโอกาสที่ปีเก่า กำลังผ่านไป และปีใหม่กำลังจะเข้ามา ประชาชนที่มีความรักใคร่นับถือกันมักจะกล่าวคำอวยพรให้แก่กันและกันเป็นประจำทุกปีว่า สวัสดีปีใหม่ เมื่อได้พบเจอกัน หรือ ส่งเสียงผ่านโทรศัพท์ไปอวยพรให้แก่กันและกัน หรือ อาจจะส่งข้อความที่พิจารณาแล้วว่า ผู้รับสารได้รับแล้วรู้สึกมีความสุข ลงในบัตรอวยพรหรือ ผ่านเฟซบุ๊คแบบการสื่อสารสมัยใหม่เพื่อส่งความสุขและเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ที่รักใคร่ชอบพอกัน

       แม้จะกล่าวกันว่า ความสุขอยู่ที่ใจของใครของมัน ใครจะแบ่งความสุขให้ใครไม่ได้ แต่เราจะทำหรือพูดให้คนอื่นรู้สึกมีความสุข เป็นสิ่งที่กระทำได้ โดยผ่านการกระทำหรือการพูดที่น่าพึงพอใจให้แก่คนที่รักและนับถือกัน

         การประดิษฐ์คำที่ไพเราะส่งให้แก่กัน อันทำให้ผู้รับสารอ่านถ้อยคำแล้ว รู้สึกมีความสุข ส่วนความสุขนั้นจะมากหรือน้อยก็ตาม นับเป็นการส่งความสุขให้แก่กันได้

   
       ข้อความยอดนิยมที่ใครๆ มักจะส่งให้แก่กันและกันเมื่อถึงวาระปีใหม่ก็คือ คำว่า สวัสดีปีใหม่

 ☺ความสวัสดี หมายถึง ความสุข ความสะดวก ความสบายของการดำเนินชีวิต
 ความสวัสดี เป็นผลมาจากการทำ การพูดและการคิดที่ถูกต้อง

                    
                  ในทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

     นอกจากปัญญาและความเพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์  นอกจาก ความสละวางโดยประการทั้งปวง เรายังไม่เห็นความสวัสดีแห่งสัตว์ทั้งหลาย เมื่อพิจารณาตามพระพุทธพจน์นี้ จะพบว่า ธรรมะที่จะปฏิบัติแล้ว นำผู้ปฏิบัติให้ถึงความสวัสดี คือ
             
             ๏.ปัญญา ความรอบรู้
             
๏.ความพากเพียร พยายามเอาชนะอุปสรรคนานาอย่างไม่ย่อท้อ
             
๏.ความสำรวมอินทรีย์ ได้แก่ สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ให้ทำหน้าที่อย่างปกติ
             
๏.การปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง


        
        คนที่จะมีความสวัสดี มีความสงบสุข สะดวกสบาย ได้โอกาสศึกษาเล่าเรียนดีและทำงานดี ต้องมีปัญญา คือ มีความรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ ซึ่งส่งเสริมการศึกษาในสาขาที่กำลังศึกษาอยู่ หรือส่งเสริมเพิ่มพูนทั้งทักษะและความรู้ในการงานอาชีพที่กำลังกระทำอยู่ให้มีความรอบรู้เชี่ยวชาญทันเหตุการณ์ทันสมัยยิ่งขึ้น มีความรู้ในการดูแลสุขภาพกายให้ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน และรู้จักระวังใจมิให้เศร้าหมองอันเป็นที่มาแห่งกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง มีความรู้มีความเข้าใจชีวิต โลก และสรรพสิ่งตามความเป็นจริงโดย รู้เท่า รู้ทัน รู้กัน รู้แก้ รู้แน่ รู้ชัด รู้สลัด รู้ปล่อย รู้วาง รู้ว่าง รู้สงบเย็น รู้จักเป็นสุขด้วยความพอใจ ยินดี ในสิ่งที่มี ที่ได้ และที่ถึงแล้ว


          คนที่จะได้รับความสุข สะดวก สบาย มีโอกาส ในการดำรงชีวิตในสถานการณ์และเงื่อนไขและเหตุปัจจัยดีๆ ต้องมีความพากเพียร ขยันในการศึกษาเล่าเรียน ฝึกฝนตนเองในสาขาวิชาที่ศึกษาเล่าเรียน หรือ ขยันหมั่นเพียรในการทำงานที่ตั้งใจว่าจะทำด้วยตนเอง หรือ ขยันหมั่นเพียรทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไป ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร พระพุทธศาสนา เน้นย้ำให้มนุษย์มีความพากเพียรในการฝึกฝนอบรมตนเองจนพ้นไปจากความทุกข์ อันมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนปัจจัยทางกาย และพ้นทุกข์จากการบีบคั้นของกิเลสด้านจิตใจ พระพุทธเจ้าได้สอนให้พากเพียรสลัด ตัดความไม่ดีที่มีในชีวิตให้หลุดออกไปจากชีวิตจิตใจ เฝ้ามองดูตรงๆ ว่า มีความไม่ดีอะไรติดกายติดใจมาถึงปีใหม่นี้บ้าง ติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดการพนัน ขี้เกียจทำงานหรือไม่ หากพบว่า มี ต้องเพียรสลัดตัดออกไปจากชีวิตให้ได้ เตรียมตัวต้อนรับปีใหม่ด้วยกายและใจที่เกลี้ยงๆ เมื่อเพียรสลัดตัดออกไปได้แล้ว ควรเพียรพยายามระวังมิให้ความไม่ดีที่หลุดออกไปจากชีวิตแล้ว ย้อนคืนกลับมาหาชีวิตอีก ตัดไปแล้วก็ตัดออกไปเลย เมื่อได้ทำชีวิตให้สะอาดสะอ้านเกลี้ยงเกลาแล้ว ต้องปลูกฝังความดีงามหรือกุศลลงในชีวิตจิตใจ เมื่อนำขยะชีวิตออกไปแล้ว ต้องปลูกดอกไม้ลงในชีวิต เปลี่ยนชีวิตจากถังขยะ เป็นกระถางดอกไม้ ความเพียรขั้นสุดท้ายคือ เพียรรักษาความดี ซึ่งเปรียบเสมือนดอกไม้ให้มีสีสดสวยทนนานจนกลายเป็นบารมีที่รอวันผลิดอกออกผล เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นตลอดไป


          คนที่จะมีความสุขสดชื่นสวัสดีมีความสะดวกสบายได้ ต้องสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพื่อให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้ทำหน้าที่รับรู้อย่างเต็มที่แล้วเลือกตัดสินใจรับอารมณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ แต่ในทางตรงกันข้าม หากปล่อยให้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทำงาน ไปตามสัญชาตญาณ โดยไม่มีสติและปัญญาเข้ามากำกับดูแล จิตใจเมื่อได้รับอารมณ์ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว จะลุ่มหลง เพลิดเพลิน และมัวเมาไปตามอารมณ์ที่มากระทบ เมื่อรับอารมณ์อย่างไม่รู้ตัว ก็เกิดความชอบบ้าง ชังบ้าง เมื่อไม่ระวังใจ ก็จะหลงใหลไปทางชอบบ้าง ชังบ้าง จนนำไปสู่ ความอยากได้ อยากมี และอยากเป็นจนกระทั่ง เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ถ้ารับรู้เท่าที่จำเป็นด้วยสติปัญญาไม่ลุ่มหลง ไม่เพลิดเพลินในความชอบชัง ไม่เป็นเหตุให้เกิดความอยากต่างๆ ก็จะมีเพียง ความรู้ตัวทัวพร้อมอันบริสุทธิ์ พิษภัยใดๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น การสำรวมระวังรักษาจิตทุกๆ ขณะ จึงเป็นทางให้เกิดสวัสดิภาพโดยตรง

                                          

                        "พื้นฐานที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่"

   ก่อนจากลาเรามารู้จักกับประวัติความเป็นมาของวันปีใหม่กันสักหน่อยดีกว่า...

ความหมายของวันขึ้นปีใหม่

          ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า "ปี" หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น "ปีใหม่" จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี



ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนีย เริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทินโดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก ๆ 4 ปี

          ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำการปฏิบัติของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ (ประมาณ 46 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อโยซิเยนิส มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน โดยทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน เมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ให้ทุกๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

          และในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตามทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March)

          แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้นพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วัน จากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (ใช้เฉพาะในปี พ.ศ. 2125) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่าปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา


ความเป็นมาวันปีใหม่ในประเทศไทย
          
      สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

          แต่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ.2432 (ร.ศ.108) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีต่อๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้นมา  อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการจึงเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนักและเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อ ๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ "วันตรุษสงกรานต์"




เหตุผลเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม      
       
      ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานคณะกรรมการ และที่ประชุมก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ในวันที่ 24 ธันวาคม ในสมัยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเหตุผลสำคัญก็คือ

           เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ

           เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ

           ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก

           เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

          ตั้งแต่นั้นมา วันขึ้นปีใหม่ของไทยจึงตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เหมือนดังเช่นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก


เพลงวันปีใหม่        
       แน่นอนว่า เพลงที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ก็คือ "เพลงพรปีใหม่" ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยมีพระราชประสงค์ให้เพลงนี้ เป็นพรปีใหม่ที่พระราชทานแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทยเป็นครั้งแรกในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 โดยเพลงพรปีใหม่ มีเนื้อร้องดังนี้


          เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
          
                ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
                คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

                สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
                ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
                ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
                โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

                ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
                ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
                ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
                ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ


ประวัติการส่ง ส.ค.ส.ในวันปีใหม่        
      
      การส่ง ส.ค.ส หรือบัตรอวยพรนั้น ประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรอวยพรนี้ปรากฎในรูปแบบ "บัตรเยี่ยม" (Visiting Card) เป็นบัตรกระดาษขนาดเท่าไพ่ นิยมเขียนข้อความ หรือพิมพ์รูปภาพต่าง ๆ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนกันในวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาแพร่หลายไปในเทศกาลต่าง ๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส มีการส่งพิมพ์และส่งบัตรอวยพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

          สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าบัตรอวยพรปีใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด คือ บัตรอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ 120 กว่าปีก่อน โดยในรัชสมัยของพระองค์ เป็นยุคที่มีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงมีการรับเอาขนบธรรมเนียมของตะวันตกมาด้วย

          ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ปรากฎสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ในปี พ.ศ.2409 ของพระองค์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 แปลได้ใจความว่า "ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลต่าง ๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน"
          ต่อมาในช่วงต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ความนิยมการส่งบัตรอวยพรแพร่หลายอย่างมาก มีหลักฐานบัตรอวยพรประเภทต่างๆ ถูกเก็บรวบรวมไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นจำนวนมาก โดยมักนิยมส่งกันในช่วงเดือนเมษายน ตามวันขึ้นปีใหม่เดิมที่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน และบนบัตรอวยพรเหล่านั้น ยังพบคำว่า "ส.ค.ศ" หรือ "ส.ค.ส" ปรากฎอยู่ จึงเชื่อกันว่า คำว่า "ส.ค.ส" เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้ โดยย่อมาจากคำว่า "ส่งความศุข" หรือ "ส่งความสุข"
          หลังจากนั้น ส.ค.ส ก็เป็นสิ่งที่นิยมส่งให้กันในวันขึ้นปีใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ และ ส.ค.ส. ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไปมีการนำวัสดุต่าง ๆ มาประดิษฐ์ ตกแต่ง มีรูปแบบ ลวดลายหลากหลายมากขึ้น
            

ส.ค.ส พระราชทาน         
  
     ทุก ๆ ปี พสกนิกรจะเฝ้ารอการพระราชทานพรปีใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่าน ส.ค.ส พระราชทานซึ่ง ส.ค.ส พระราชทานนี้ พระองค์จะทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดยปีแรกที่พระองค์พระราชทาน ส.ค.ส คือ ปี ส.ค.ส พระราชทานสำหรับปี พ.ศ.2530 โดยทรงพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานให้แก่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร

ส.ค.ส พระราชทาน
ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2530

          นับแต่นั้นมา พระองค์ได้พระราชทาน ส.ค.ส ทุกปี และหนังสือพิมพ์ได้นำ ส.ค.ส พระราชทานไปตีพิมพ์ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน ส.ค.ส พระราชทานนั้นได้ยกเว้นไปในปีใหม่ พ.ศ. 2548 ที่พระองค์ไม่ได้พระราชทาน ส.ค.ส เนื่องจากในช่วงปลายปี 2547 ได้เกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างรุนแรง พระองค์จึงทรงงานหนัก เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ได้มีรับสั่งพระราชทานแทน

         ในส่วนของข้อความที่ปรากฎบน ส.ค.ส. พระราชทานนั้น ล้วนสอดคล้องเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปีนั้นๆ และแม้จะเป็นเพียงถ้อยคำสั้น ๆ แต่ก็แฝงไปด้วยข้อคิด และคติเตือนใจที่ส่งผ่านไปยังปวงชนชาวไทยทุกคน  

ส.ค.ส พระราชทาน
                                              ส.ค.ส.พระราชทาน ปี พ.ศ.2547
        
กิจกรรมวันขึ้นปีใหม่

          กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ คือ
           เก็บกวาดทำความสะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน

           ทำบุญตักบาตร กรวดนำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติและผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

           ไปวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม หรือฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ เพื่อให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

           ไปกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง ด้วยการมอบของขวัญ ช่อดอกไม้ หรือการ์ดอวยพร

           ตรวจสอบตัวเองเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมาตลอดปี ว่ามีความเจริญก้าวหน้าสำเร็จลุล่วงไปได้แค่ไหน หากมีสิ่งใดคั่งค้างก็ต้องเร่งขวนขวายปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ดีก็ให้ตั้งใจทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป และควรให้อภัยกับผู้ที่มีเรื่องบาดหมางหรือขุ่นเคืองกัน เพื่อสานความสัมพันธ์ให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยดี

           จัดงานรื่นเริงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือสถานที่ต่าง ๆ

           จัดกิจกรรมร่วมนับถอยหลัง เพื่อก้าวสู่วันใหม่

           จัดกิจกรรมการกุศลตามสถานที่ต่าง ๆ


ปีใหม่ วันปีใหม่


                                 
                        ขอลาทีปีเก่าแสนเศร้าโศก  ความอับโชคที่มากับราศี 
     อีกโพยภัยไข้ทำประจำมี         ในชีวีจงสลายมลายพลัน